เจริญใจ สุนทรวาทิน
เจริญใจ สุนทรวาทิน

เจริญใจ สุนทรวาทิน

เจริญใจ สุนทรวาทิน (16 กันยายน พ.ศ. 2458 - 10 เมษายน พ.ศ. 2554) เป็นศิลปินและนักวิชาการชาวไทยด้านศิลปวัฒนธรรมแบบราชสำนัก มีความสามารถในด้านการละคร ชำนาญในการบรรเลงเครื่องดนตรีไทยประเภทวงเครื่องสายและวงมโหรี โดยเฉพาะซอสามสาย[1] มีความเชี่ยวชาญในการขับร้องเพลงประกอบการแสดงนาฏกรรม รวมถึงเพลงไทยเพื่อการฟังตามแบบฉบับและแนวทางร่วมสมัย กล่าวได้ว่า เป็นผู้ที่มีน้ำเสียงไพเราะ ขับร้องด้วยอารมณ์อันสมจริง ประณีตละเมียดละไม ได้อรรถรสของวรรณคดี[2] ได้รับการขนานนามจากนักดนตรีไทยว่าเป็น “เพชรประดับมงกุฎแห่งคีตศิลป์ไทย”[3]เจริญใจ สุนทรวาทิน เป็นที่รู้จักในวงการเพลงไทยตั้งแต่วัยเยาว์[4] เคยเป็นข้าราชบริพารในยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง[5] เคยได้รับรางวัลชนะเลิศระดับชาติจากการประกวดขับร้องเพลงไทย เป็นครูผู้ควบคุมวงดนตรีและสอนการขับร้องเพลงไทย เป็นอาจารย์ผู้ถวายงานสอนดนตรีและขับร้องแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี[6] และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) ประจำปีพุทธศักราช 2530 จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ[7]

เจริญใจ สุนทรวาทิน

อาชีพ นักร้อง นักดนตรี ครูสอนขับร้องและดนตรี
รางวัล ชนะเลิศการขับร้องเพลงไทย กรมโฆษณาการ (พ.ศ. 2492)
เกิด 16 กันยายน พ.ศ. 2458
ฝั่งธนบุรี กรุงเทพฯ ประเทศไทย
ผลงานเด่น บรรจุเพลงและขับร้อง ฉันท์ดุษฎีสังเวยพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
บิดามารดา พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน)
คุณหญิงเรือน เสนาะดุริยางค์ (เรือน สุนทรวาทิน)
ชาติพันธุ์ ชาวไทยเชื้อสายมอญ
เสียชีวิต 10 เมษายน พ.ศ. 2554 (95 ปี)
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพฯ ประเทศไทย